หน้าเว็บ

สมัยกรุงศรีอยุธยา


พุทธศักราช 1893
  • ราชบุรีเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา
  • สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงรวบรวมแคว้นสุพรรณภูมิและละโว้เข้าด้วยกัน พร้อมกับสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองราชบุรี ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา มีฐานะเป็นหัวเมืองขึ้นใกล้กับเมืองหลวง จัดเป็นเมืองรวมอยู่ในอาณาเขตราชธานี เรียกว่า "เมืองมณฑลราชธานี"
พุทธศักราช 1991-2031 (สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)
  • มีการปฎิรูปการปกครอง โดยการขยายอำนาจการปกครองราชธานีครอบคลุมเมืองใหญ่ที่เป็นเมืองหน้าด่านทั้งสี่ เช่น ลพบุรี สุพรรณบุรี นครนายก ส่งผลให้เมืองชั้นในอย่างเมืองราชบุรี ถูกลดฐานะเป็นเมืองน้อย เรียกว่า "เมืองจัตวา" มีผู้ปกครองเรียกว่า "ผู้รั้ง" ขึ้นตรงต่อราชสำนัก ไม่มีอำนาจสั่งการเด็ดขาดเช่นเจ้าเมืองในสมัยก่อนๆ มีกรมการเมืองชั้นรองลงมาเรียกว่า "จ่าเมือง" ซึ่งทั้งผู้รั้งและจ่าเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของต้นสังกัดในเมืองหลวง ทั้งฝ่ายกลาโหม (ฝ่ายทหาร) และฝ่ายจตุสดมภ์ (ฝ่ายพลเรือน)
พุทธศักราช 2000-2100
  • สันนิษฐานว่ามีการสร้างพระปรางค์วัดมหาธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ราชบุรี องค์ใหม่ทับองค์เดิม (ดูภาพและที่ตั้ง)
พุทธศักราช 2017
  • พระยาละแวก กษัตริย์เขมร ยกกองทัพเข้ามาปล้นกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ จึงถอยทัพกลับไปตั้งที่ ปากน้ำพระประแดง แล้วจัดกำลังพลออกไปตระเวนจับราษฎร์ จนถึง เมืองสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี เมืองสาครบุรี รวมทั้งเมืองราชบุรี กวาดต้อนขุนหมื่น กรมการ และไพร่ชายหญิง ลงเรือไปเป็นจำนวนมาก
พุทธศักราช 2091-2111 (สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ)
  • โปรดให้สร้างเมืองใหม่ เมืองราชบุรี จึงถูกแบ่งพื้นที่บางส่วนรวมกับพื้นที่บางส่วนของเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครชัยศรี มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นในเพื่อรองรับรับราษฎรไทยที่หนีสงครามระหว่างไทยกับพม่า ที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระชัยราชาธิราช (พ.ศ.2077-2089) ที่ไปอยู่ตามป่าเขาให้กลับมาเป็นกำลังของพระนครยามมีศึก
พุทธศักราช 2091 (ปีวอก)
  • พระเจ้าหงษาวดีตะเบงชเวตี้ ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ผ่านพื้นที่เขตมณฑลราชบุรี เป็นครั้งแรก (สงครามครั้งนี้สมเด็จพระสุริโยทัย ถูกพระเจ้าแปรฟันสิ้นพระชนม์กับคอช้าง)
พุทธศักราช 2098
  • สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองราชบุรีพร้อมกำลังพลไปรักษาคูเมืองและป้อมประตูกำแพงพระนครศรีอยุธยา ในคราวศึกหงสาวดี
พุทธศักราช 2127
  • ก่อตั้งวัดกำแพงใต้ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
พุทธศักราช 2135 (ปีมะโรง)
  • 12 ค่ำเดือนอ้าย พระนเรศวรมหาราช สั่งให้พระอัมรินทรฤาชัย ผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี คุมพล 500 เป็นกองโจรคอยตีตัดหลังกองทัพพม่า (สงครามครั้งนี้เป็นคราวที่สมเด็จพระนเรศวรกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาเมืองหงษาวดี และพระมหาอุปราชาขาดคอช้าง)
พุทธศักราช 2148-2153 (สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ)
  • จากบันทึกของชาวฮอลันดาและชาวฝรั่งเศส ล้วนแสดงให้เห็นว่ามีการใช้เส้นทางแม่น้ำแม่กลองผ่านเมืองราชบุรี เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญสายหนึ่งของภาคตะวันตกไปสู่กรุงศรีอยุธยาซึ่งในช่วงระยะนั้น กรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนใหญ่พ่อค้าชาวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาทางเมืองตะนาวศรี แล้วเดินทางบกเข้ามายังเมืองเพชรบุรี ผ่านแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำแม่กลองช่วงที่ผ่านเมืองราชบุรี และแม่น้ำท่าจีนสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา
พุทธศักราช 2172-2199 (สมัยพระเจ้าปราสาททอง)
  • เมืองราชบุรี นอกจากชาวพื้นเมืองแล้วยังคับคั่งไปด้วยผู้คนหลายชาติ หลายภาษา ทั้งชาวจีน ชาวมอญ และพวกแขก เช่น อินเดีย อาหรับ แขกมัวร์ และเปอร์เซีย
พุทธศักราช 2181
  • ก่อตั้งวัดม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี (ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) (ตามคัมภีร์ใบลานของมอญที่จารไว้ หมายเลข 321)
พุทธศักราช 2199-2231 (สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)
  • ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้นมา เมืองราชบุรี เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาปกครอง เป็นสถานที่รวบรวมระดมพลป้องกันพระนครและเป็นเมืองที่มีกองทัพประจำ พร้อมที่จะร่วมกับทัพหลวงจากราชธานีได้ทันทีเมื่อมีข้าศึกรุกราน
พุทธศักราช 2200
  • ก่อสร้างวัดธรรมวิโรจน์ ต.พงสวาย อ.เมือง จ.ราชบุรี
พุทธศักราช 2203
  • พม่ายกกองทัพตามครอบครัวชาวมอญที่หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าฯ ให้พระยาจักรีเกณฑ์ทัพหัวเมืองปากใต้ชายทะเลและตะวันตก เข้าร่วมกับทัพหลวงจากราชธานี มีพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นแม่ทัพ โดยมีพระยาเพชรบุรีเป็นกองหน้า พระยาราชบุรีเป็นกองหนุน ช่วยกันขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ
พุทธศักราช 2206 (ปีเถาะ)
  • สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี ขุนเหล็กเป็นแม่ทัพใหญ่ พระยาวิเศษไชยชาญเป็นยกกระบัตรทัพ พระยาราชบุรี เป็นเกียกกาย ถือพล 30,000 คนและพระยาเพชรบุรี ถือพล 5,000 คน ยกทัพไปต่อสู้ทัพพม่าที่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ (คราวพระเจ้าอังวะมาถวงชาวมอญที่หนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร)
พุทธศักราช 2223
  • ก่อตั้งวัดม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี (ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) (ตามทะเบียนวัดของกรมศาสนา)
พุทธศักราช 2231-2246 (สมัยสมเด็จพระเพทราชา)
  • กรุงศรีอยุธยาเกิดความไม่สงบหลายครั้ง เมืองราชบุรีถูกรวมเข้าเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของสมุหกลาโหมทั้งกิจการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน
  • ครั้งหลังสมัยสมเด็จพระเพทราชา หัวเมืองฝ่ายใต้ เปลี่ยนไปขึ้นกับกรมท่า สังกัดฝ่ายพระคลัง ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพระยาโกษาธิบดี มีหน้าที่ติดต่อและควบคุมการค้ากับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ ช่วงนี้ เมืองราชบุรี มีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นในรอบราชธานี คงมี ยกกระบัตรหรือยุกกระบัตร ที่เป็นขุนนางหรือผู้มีตระกูลจากราชสำนักที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดินส่งมาควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ดำเนินการจัดเก็บภาษีและส่วยต่างๆ ส่งเมืองหลวง ส่วยที่เก็บได้จากเมืองราชบุรี ได้แก่ ศิลาปากนก งาช้าง ดินประสิว กำมะถัน เสื่อต่างๆ ไม้ฝาง ไม้แดง ไม้ดำ รวมทั้งผ้าแดง (ผ้าแดงเป็นสินค้าที่ชาวต่างชาตินำเข้ามาขาย) นอกนั้นยกกระบัตร ยังมีหน้าที่ทำศึกสงคราม ก่อสร้างปฎิสังขรณ์วัดและกำแพงเมือง การขุดคลอง เป็นต้น
พุทธศักราช 2250
  • ก่อตั้งวัดสนามชัย ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
พุทธศักราช 2275
  • ก่อตั้งวัดเขาน้อย ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี
พุทธศักราช 2295
  • ก่อตั้งวัดนครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
พุทธศักราช 2300
  • ก่อตั้งวัดกลาง ต.คลองข่อย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  • ก่อตั้งวัดเจ็ดเสมียน ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
  • ก่อตั้งวัดขนอนหนังใหญ่ ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี (ดูภาพ ที่ตั้งและพิกัด)
พุทธศักราช 2301-2310 (สมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ)
  • เมืองราชบุรี มียกกระบัตร คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งต่อมาเป็นองค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตอนนั้นได้สมรสกับธิดาเศรษฐีใน ต.อัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม เขตต่อพรมแดนเมืองราชบุรี เมื่อรับราชการมีตำแหน่งสูงขึ้น จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
  • เมืองราชบุรี เป็นเมืองท่าสำคัญในการขนถ่ายสินค้าจากชาวต่างชาติเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา ตอลดจนสินค้าภายในพระราชอาณาจักรและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงออกไปสู่ตลาดภายนอก
พุทธศักราช 2302 (ปีเถาะ)
  • พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่าตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรี และเดินทัพต่อมาจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศ ให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพถือพล 3,000 คน พระยาเพชรบุรีเป็นกองหน้า พระยาราชบุรีเป็ยยกกระบัตร พระยาสุมทรสงครามเป็นเกียกกาย พระธนบุรีกับพระนนทบุรีเป็นกองหลังยกไปรักษาเมืองมะริดแต่ไม่ทัน พ่ายแพ้กลับมา และทางด้านด่านเจดีย์สามองค์ พระเจ้าเอกทัศใหเกณฑ์กองทัพจำนวน 10,000 คน ให้พระยาอภัยมนตรีเป็นแม่ทัพ ยกไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี และให้พระยาคลังคุมกองทัพ จำนวน 10,000 คนไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรีอีกกอง 1 เมื่อกองทัพมังฆ้องนรธามาถึงราชบุรี ได้สู้รบกัน ฝ่ายพม่าเกือบแพ้แล้ว กองทัพมังระของพม่ายกตามมาช่วยทัน จนกองทัพไทยแพ้แตกพ่าย พระเจ้าอลองพญา จึงโปรดให้หยุดรวบรวมพลอยู่ที่ราชบุรี 4 วัน จึงเดินทัพต่อไปยังเมืองสุพรรณบุรี (ดูรายละเอียด พ.ศ.2302 เสียเมืองราชบุรี)
พุทธศักราช 2303
  • พม่ายกทัพเข้ามาตีเมืองท่าสำคัญอันเป็นเมืองประเทศราชของไทยแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทวาย มะริด และตะนาวศรี และตีเมืองท่าภายในพระราชอาณาจักร ได้แก่ เพชรบุรีและราชบุรี จนเข้ามถึงตำบลลูกแก (ปัจจุบันอยู่ในเขต อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี)
พุทธศักราช 2308 (ปีระกา)
  • มังมหานรธา แม่ทัพพม่ายกกองทัพจำนวน 30,000 คน จากเมืองทวายมาตั้งอยู่ในแขวงเมืองราชบุรี (ดูรายละเอียด)
พุทธศักราช 2310 (ปีกุน)
  • คราวเสียกรุงศรีอยุธยา กองทัพพระพิเรนทรเทพเจ้ากรมตำรวจแพ้แก่พม่าที่เมืองกาญจนบุรี กองทัพพม่ายกตามเข้ามาตามลำน้ำราชบุรี ตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลลูกแก ตำบลโคกกระออม และที่ดงรังหนองขาว เที่ยวคอยปล้นทรัพย์สินและจับเชลยคนไทย กองทัพไทยจัดทัพมารบกับพม่าที่ราชบุรี เป็นกองทัพบกและกองทัพเรือ โดยกองทัพบกยกทัพไปถึงตำบลตำหรุ เขต อ.เมืองราชบุรี กองทัพเรือยกไปถึงตำบลบางกุ้ง เขต อ.บางคณฑี จ.สุมทรสงคราม แต่ปรากฏว่าแพ้พม่าทั้งสองทัพ

ราชบุรีเริ่มเข้าสู่ยุคสมัยกรุงธนบุรี

ไม่มีความคิดเห็น: